“ฝากครรภ์” ที่ไหนดี แล้วมีขั้นตอนอะไรบ้างนะ
ฝากครรภ์ – ผู้หญิงหลายคนที่อยากจะเป็นคุณแม่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นตรงไหน ท้องแล้วจะต้องทำอะไรยังไงต่อ มีอะไรที่สงสัยหลายอย่างในเรื่อง “ฝากครรภ์” จะไปฝากครรภ์ที่คลิกนิกแถวบ้านได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเท่านั้น แล้วมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องเตรียมเอกสารอะไรไปด้วยไหม รวมทั้งขั้นตอนต่างๆด้วย Motherhood รวบรวมรายละเอียดมาไว้ตรงนี้แล้วค่ะ
ฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติสุขภาพก่อน
ทำไมต้องฝากครรภ์
การฝากครรภ์ในไทยเรามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว หลังจากที่มีหมอตำแยเกิดขึ้นมาในยุคพระนารายณ์มหาราช ผู้คนก็แนะนำและบอกต่อกันมาว่าหากหญิงใดตั้งท้องก็ให้ไปฝากกับหมอตำแย หากมีอะไรเกิดขึ้นจะได้ไปตามหมอตำแยได้ตลอดเวลา คนไทยสมัยโบราณจึงนิยมฝากท้องกับหมอตำแยเรื่อยมา จนมาถึงการฝากครรภ์ในระบบสูติกรรมสมัยใหม่ ที่จะมีหลายขั้นตอนที่ละเอียดกว่า
การฝากครรภ์ในยุคนี้เริ่มที่การทำบัตรประจำตัว และไปตรวจเป็นระยะๆตามที่แพทย์นัด ซึ่งจะเป็นการตรวจอย่างละเอียด เพราะถือว่าทุกๆขั้นตอนล้วนจำเป็นต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ทั้งสิ้น ส่วนจะมีการตรวจมากหรือน้อยครั้งก็ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ถ้าพบความผิดปกติก็จะนัดตรวจถี่ขึ้น
สามารถสรุปได้คร่าวๆว่าการฝากครรภ์นั้นมีขึ้นเพื่อให้คุณแม่ท้องได้ตรวจอาการอย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การตรวจทุกๆครั้งล้วนเป็นไปเพื่อดูแลสุขภาพของตัวคุณแม่เองและทารกที่อยู่ในครรภ์จนกว่าจะถึงกำหนดคลอดนั่นเอง
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
- เพื่อส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด โดยแพทย์จะให้คำแนะนำและตอบคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตนระหว่างตั้งครรภ์
- เพื่อตรวจสอบว่าเกิดความผิดปกติหรือไม่ แพทย์จะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และอาจจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกได้ รวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของลูกผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติจะได้ป้องกันและแก้ไข
- ช่วยป้องกันและลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นไปอย่างปกติมากที่สุด ถ้ามีโรคแทรกซ้อนจริง แพทย์จะได้ช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด
- ช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ การฝากครรภ์จะช่วยลดอัตรการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดแล้วลูกเสียชีวิตได้มาก
- ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ลูกในครรภ์เติบโตอย่างสมบูรณ์ มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
การฝากครรภ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของทั้งแม่และทารกในครรภ์
ฝากครรภ์ที่ไหนดี
คุณแม่ควรเลือกฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุด ไม่ว่าจะใกล้บ้านหรือที่ทำงาน เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้เดินทางไปโรงพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด หรือจะสอบถามจากญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อช่วยตัดสินใจเลือกสถานที่ฝากครรภ์ก็ได้ แต่สำหรับคุณแม่บางท่านที่เคยรับการตรวจรักษาโรคบางอย่างมาก่อน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคของต่อมไทยรอยด์ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรฝากครรภ์ที่เดียวกันเลย เพราะแพทย์จะมีประวัติการรักษาของเราอยู่แล้ว มีการใช้ยาอะไรอยู่ จะมีผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่
ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนดีกว่ากัน
ว่าที่คุณแม่หลายคนคงสงสัยว่าการฝากครรภ์ที่ไหนดีกว่ากัน ระหว่างโรงพยาบาลรัฐชื่อดังหรือโรงพยาบาลเอกชนที่เดินทางสะดวก ความแตกต่างของการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลทั้งสองแบบก็มีอยู่บ้าง การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐอาจจะต้องรอตรวจนานพอสมควร เพราะมีผู้ใช้บริการมาก แพทย์ที่มาตรวจก็จะสลับกันไป อาจจะทำให้รู้สึกเหมือนไม่มีความต่อเนื่องได้บ้าง แต่ไม่ต้องกังวลเพราะมีบันทึกผลการตรวจไว้อยู่แล้ว ข้อดีของการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลรัฐคือค่าใช้จ่ายไม่สูง
การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนจะได้พบแพทย์ท่านเดิมทุกครั้ง ทำให้รู้สึกว่ามีความต่อเนื่องในการตรวจ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐพอสมควร
เมื่อไหร่ควรไปฝากครรภ์
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดในทันทีที่พบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ อย่ารอจนใกล้กำหนดแล้วค่อยไปฝากครรภ์เด็ดขาด เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาในระหว่างนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
ควรฝากครรภ์เลยตั้งแต่ที่พบว่าตนเองท้อง เพื่อให้แพทย์ได้ดูแลอย่างดีที่สุด
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์
- ค่าใช้จ่ายการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลรัฐ โดยส่วนมากค่าใช้จ่ายในการไปฝากครรภ์ครั้งแรกจะค่อนข้างแพงเนื่องจากต้องทำการตรวจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอัลตราซาวด์ การตรวจเลือด ค่ายา ส่วนครั้งต่อๆไปจะถูกลงเพราะไม่ต้องตรวจทุกอย่างเท่าครั้งแรก เบื้องต้นค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท นับตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์จนถึงตอนคลอด
- ค่าใช้จ่ายการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเอกชน ส่วนมากจะคิดเป็นแพ็คเกจแบบเหมาจ่าย ทำการจ่ายเงินในครั้งแรกแพทย์ก็จะดูแลยาวไปจนถึงการคลอด รวมทั้งค่าตรวจ ค่าอัลตราซาวด์ ค่ายา และอื่นๆ นอกจากนี้ยังขึ้นกับการคลอดด้วย ว่าเป็นการคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอด และหากมีการตรวจคัดกรองพิเศษก็ต้องเสียเงินเพิ่มอีกต่างหาก ไม่รวมอยู่ในแพ็คเกจ ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเอกชนจะเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปโดยประมาณ
ไปฝากครรภ์ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประชาชนไว้สำหรับทำประวัติ
- เอกสารที่แสดงประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ
ขั้นตอนการฝากครรภ์ครั้งแรก
ในการไปฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะซักถามคุณแม่ถึงประวัติด้านสุขภาพของคุณแม่ ดังนี้
- ประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้าย
- ก่อนตั้งครรภ์ครั้งนี้มีการคุมกำเนิดหรือไม่ ด้วยวิธีใด
- เคยมีโรคหรืออาการผิดปกติอะไรบ้าง
- เคยมีการแพ้ยาหรือไม่ หรือขณะนี้มีการใช้ยาตัวใดอยู่หรือไม่
- ประวัติความเจ็บป่วยของคนใกล้ชิดในครอบครัวที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์
ก่อนไปฝากครรภ์จึงควรทบทวนและจดประวัติสุขภาพต่างๆของตนเองไว้ให้พร้อม เพื่อจะได้ตอบแพทย์ได้ถูกและไม่มีสิ่งใดตกหล่น หลังจากทำการซักประวัติด้านสุขภาพเสร็จแล้ว แพทย์ก็จะเริ่มทำการตรวจร่างกาย ดังนี้
- ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง เพราะน้ำหนักตัวนั้นบ่งบอกถึงการเจริญเติมโตของทารกในครรภ์ ทุกครั้งที่ไปตรวจจะต้องชั่งน้ำหนักเสมอ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มหรือลดเพียงใด มีความผิดปกติหรือไม่ ส่วนคุณแม่ที่มีรูปร่างเล็กหรือตัวเตี้ยกว่า 145 เซนติเมตร อุ้งเชิงกรานมักมีขนาดเล็กและแคบ ขนาดของลูกกับอุ้งเชิงกรานอาจไม่ได้สักส่วน ทำให้คลอดเองลำบาก มีโอกาสต้องผ่าคลอดสูง
- วัดความดันโลหิต หากคุณแม่ความดันสูงกว่าปกติ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการครรภ์เป็นพิษ หากความดันต่ำก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เป็นเพียงภาวะที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว
- ตรวจปัสสาวะ หากคุณแม่มีน้ำตาลในปัสสาวะมาก อาจแสดงว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็จะต้องตรวจเลือดเพื่อหาเบาหวานกันต่อ หรือถ้ามีโปรตีนไข่ขาวออกมา ก็แสดงถึงอาการครรภ์เป็นพิษหรือการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาระดับความเข้มข้นของเลือด ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และหาภูมิต้านทานต่อโรคหัดเยอรมัน ถ้าตรวจพบว่ามีระดับความเข้มข้นของเลือดต่ำมาก แสดงว่าอาจเป็นโรคเลือดบางชนิด แต่ถ้าตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แพทย์จะเตรียมวัคซีนไว้สำหรับฉีดป้องกันการติดเชื้อให้ลูกทันทีหลังคลอด
- ตรวจภายใน การตรวจนี้จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น เช่น เมื่อแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกหรือช่องคลอด
- ตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะตรวจสภาพร่างกายทั่วๆไป ดูว่ามีภาวะซีดหรือมีอาการอ่อนเพลียผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งตรวจหน้าท้องเพื่อหาความผิดปกติของตับ ไต ม้าม หรือเนื้องอกอื่นๆที่ผิดในช่องท้อง
นัดตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพคุณแม่ดีพอและไม่มีสิ่งใดผิดปกติ
สมุดฝากครรภ์คืออะไร
ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ผลการตรวจทุกอย่างจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์หรือใบฝากครรภ์ ซึ่งเปรียบเสมือนรายงานประจำตัวของทารกในครรภ์ คุณม่ควรนำติดตัวไปด้วยเสมอหากต้องเดินทางไปไหนไกลๆ หากเกิดภาวะฉุกเฉินต้องเข้าโรงพยาบาล แพทย์จะได้ดูแลรักษาได้ถูกต้องตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุดฝากครรภ์
การกำหนดวันคลอด
ปกติแล้วคุณแม่จะทราบกำหนดวันคลอดได้จากประจำเดือนครั้งสุดท้าย ตลอดอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 280 วัน หรือประมาณ 40 สัปดาห์ โดยนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณแม่ แต่ในความจริงแล้วจะมีคุณแม่เพียง 5-6% เท่านั้นที่จะคลอดลูกตรงตามวันที่กำหนดพอดี
การนัดตรวจครรภ์ครั้งถัดไป
หลังจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และกำหนดวันคลอดแล้ว แพทย์จะสั่งยาบำรุงให้คุณแม่และทำการนัดเพื่อมาตรวจครรภ์ในครั้งถัดไป ซึ่งจะนัดถี่หรือห่างมากน้อยยังไงก็ขึ้นอยู่กับระยะครรภ์หรือความผิดปกติที่ตรวจพบ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วง 7 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์จะนัดให้มาตรวจเดือนละ 1 ครั้ง และเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 8 แพทย์จะนัดตรวจถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 2-3 สัปดาห์ และจะเพิ่มเป็นทุกๆ 1 สัปดาห์เมื่อเข้าเดือนที่ 9 แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด แพทย์จะนัดให้มาตรวจถี่ขึ้นกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติในช่วง 2 เดือนก่อนคลอด
ไปตามนัดตรวจไม่ได้ ต้องทำอย่างไร
หาคุณแม่ไม่สามารถไปตรวจตามที่แพทย์นัดได้ ก็ให้รีบไปพบแพทย์ในทันทีที่ว่าง อย่ารอจนเลยวันนัดไปเป็นเดือน เนื่องจากการนัดแต่ละครั้งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลายๆอย่าง ถ้าสามารถตรวจพบความผิดปกติเสียแต่เนิ่นๆ แพทย์ก็จะได้ให้การรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวได้ถูก
การฝากครรภ์นั้นสามารถทำได้เลยตั้งแต่ที่พบว่าตัวเองท้อง ไม่เป็นการเร็วเกินไปที่จะรีบไปฝากครรภ์และตรวจกับแพทย์ เพราะแพทย์จะได้มีข้อมูลที่สำคัญทุกอย่างในการดูแลสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคแทรกซ้อน และสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัยทั้งคุณแม่คุณลูก
อ่านเรื่องราวน่ารู้สำหรับคุณแม่และลูกน้อยได้ที่ Story MotherHood อาทิ ลูกแฝดใคร ๆ ก็อยากมี, วิธีเลือกซื้อขวดนม, ตั้งครรภ์กินทุเรียนได้ไหม และ ติดตามข่าวไวรัส Covid-19 เป็นต้น